อีกประการหนึ่ง น่าจะเป็นอย่างที่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในประวัติสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
เมื่อก่อนเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ความตอนหนึ่งว่า
เรื่องประวัติเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์
อันเนื่องด้วยการถวายราชสมบัติแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก็เคยได้ยินท่านผู้หลักผู้ใหญ่แต่ก่อนเล่ากันมาว่า เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์
ได้คิดเห็นก่อนบิดาของท่าน (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์)
ว่า ถ้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าหัวสวรรคต ราชสมบัติจะต้องได้แก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าหัว
บ้านเมืองจึงจะเป็นปกติต่อไป อาศัยเหตุนั้น ตัวท่านเมื่อยังเป็นที่จมื่นไวยวรนาถ
กับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ เมื่อยังเป็นที่จมื่นราชามาตย์
ซึ่งมีความเห็นพ้องกัน จึงชวนกันปฏิสังขรณ์วัดดอกไม้ ซึ่งอยู่ในสวนแห่งหนึ่งไม่ห่างไกลกับบ้านที่ท่านอยู่นัก
แล้วกราบทูลขอคณะสงฆ์ธรรมยุตินิกาย จากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
(ครั้งยังทรงผนวชอยู่) ไปครอง ก็เกิดมีกิจที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ต้องเสด็จไปตรวจตราและสั่งสอนพระสงฆ์ซึ่งออกวัดไปใหม่เนือง
ๆ ฝ่ายเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ กับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ก็ได้โอกาสมาเฝ้าแหนเกิดวิสาสะ
ประกอบกับสมานฉันท์ในความนิยมศึกษาความรู้ทางข้างฝรั่ง
ก็เลยทรงชอบชิดสนิทสนมแต่นั้นมา ครั้งถึงเวลาปัญหาเกิดขึ้นจริงด้วยเรื่องรัชทายาท
ท่านทั้งสองก็ได้เป็นกำลังสำคัญอยู่ข้างหลังบิดา ในการที่ขวนขวายให้พร้อมเพรียงกับถวายราชสมบัติแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ข้อความในพระนิพนธ์ดังที่อ้าง
แสดงว่ามีเหตุการณ์บางอย่างในทางบ้านเมืองเป็นเหตุให้ท่านทั้งสอง
คือเจ้าพระยาศรีสริยวงศ์ กับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ปฏิสังขรณ์วัดนี้ขึ้น
แล้วเกี่ยวโยงไปถึงเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงได้ราชสมบัติในระยะเวลาต่อมาด้วย
|